
เนื้องอกในสมอง หรือ brain tumer คือหนึ่งในโรคภัยที่หลายคนกลัวเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโรคซับซ้อนที่สามารถส่งผลรกะทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและอาจถึงชีวิตได้ เมื่อพูดถึงโรคเนื้องอกในสมองก็มักจะทำให้ใครหลายคนรู้สึกหวาดกลัว แต่หากเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการนี้ก็จะสามารถทำให้เราดูแลรักษาสุขภาพร่างกายได้อย่างถูกวิธี และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดียิ่งขึ้น บทความนี้จะมาตอบคำถามว่าเนื้องอกในสมองเกิดจากอะไร? เนื้องอกในสมองรักษายังไง? และเนื้องอกในสมองรักษาหายไหม?
เนื้องอกในสมองเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

เนื้องอกในสมองเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์สมอง จนทำให้มีเป็นลักษณะของก้อนเนื้อในสมอง ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้
- พันธุกรรม: บางคนอาจมีความเสี่ยงสูงจากการถ่ายทอดยีนที่มีความผิดปกติมาจากบรรพบุรุษ
- รังสีและการได้รับสารเคมี: การสัมผัสกับรังสีหรือสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานานอาจกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกในสมอง
- อายุและภูมิต้านทาน: เมื่ออายุมากขึ้นหรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จะมีโอกาสเกิดเนื้องอกสูงขึ้น
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม: การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หรือการสัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบางประเภท อาจเพิ่มความเสี่ยง
เนื้องอกในสมองมี 2 ประเภท

เนื้องอกในสมองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ตามอาการเนื้องอกในสมอง ทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง โดยมีความแตกต่างกันดังนี้
เนื้องอกในสมองชนิดไม่ร้ายแรง
เนื้องอกในสมองชนิดไม่ร้ายแรง หรือที่เรียกว่า Benign Tumor มีลักษณะสำคัญ ดังนี้:
- การเจริญเติบโตช้า ไม่รุกรานเนื้อเยื่อรอบข้าง
- สามารถผ่าตัดออกได้โดยไม่กระทบต่อเนื้อสมองส่วนอื่น
- โอกาสกลับเป็นซ้ำต่ำ
- ตัวอย่างเช่น Meningioma, Schwannoma
เนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง
เนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง หรือ Malignant Tumor มีคุณสมบัติที่น่ากังวล:
- การเจริญเติบโตรวดเร็วและรุนแรง
- สามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง
- มีแนวโน้มกลับเป็นซ้ำสูง
- ตัวอย่างเช่น Glioblastoma, Medulloblastoma
สังเกตสัญญาณเตือนภัย อาการเนื้องอกในสมองที่ควรระวัง
เนื้องอกในสมองอาการมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อในสมอง บางอาการอาจเริ่มแรกดูเหมือนเป็นอาการปกติทั่วไป และบางครั้งอาจคล้ายคลึงกับโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โดยเฉพาะอาการสั่น การทรงตัวผิดปกติ หรือการเคลื่อนไหวที่ช้าลง ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
เนื้องอกในสมองอาการเริ่มต้นที่พบบ่อยมีดังนี้
- อาการปวดศีรษะรุนแรงและเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้าหรือตื่นนอนใหม่ ๆ
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เช่น มองภาพซ้อน การมองเห็นพร่ามัว หรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วน
- มีอาการชัก โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประวัติชักมาก่อน
- การทรงตัวและการเดินไม่คล่องหรือเสียการทรงตัว
- การพูดผิดปกติ สับสน หรือมีปัญหาในการสื่อสาร
- การรับรู้และความจำเริ่มแย่ลง
กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังเป็นพิเศษ
- ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี
- มีประวัติการเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
- ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา
- มีประวัติทางพันธุกรรมเกี่ยวกับเนื้องอก
เนื้องอกในสมองรักษายังไง?
เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมากในการรักษาเนื้องอกในสมอง แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่:
- การผ่าตัด: เป็นวิธีหลักในการกำจัดก้อนเนื้องอก โดยแพทย์จะพยายามนำก้อนเนื้องอกออกให้มากที่สุด
- รังสีรักษา: ใช้รังสีพลังสูงทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่หลังการผ่าตัด
- เคมีบำบัด: ใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะในกรณีที่เนื้องอกกระจายตัว
- การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง: การใช้ยาที่มุ่งเป้าไปที่เซลล์มะเร็งโดยตรง
เนื้องอกในสมองมีโอกาสรักษาหายไหม?
คำถามที่สำคัญที่หลายคนสงสัยคือ เนื้องอกในสมองรักษาหายไหม ในปัจจุบันยังไม่สามารถให้คำตอบอย่างแน่ชัดได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ประสิทธิภาพของการรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องเช่น ชนิดของเนื้องอก ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ อายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน ระยะเวลาในการตรวจพบและเริ่มรักษา เป็นต้น
โอกาสในการรักษาของเนื้องอกในสมองแต่ละประเภท
- เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง มีโอกาสรักษาหายได้สูง โดยเฉพาะหากตรวจพบและรักษาเร็ว
- เนื้องอกชนิดร้ายแรง การรักษาจะมุ่งเน้นควบคุมการลุกลามและยืดอายุการใช้ชีวิต
สรุป เนื้องอกในสมอง ตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว
เนื้องอกในสมองเป็นโรคที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิต การตระหนักรู้ การสังเกตอาการ และการตรวจพบอย่างรวดเร็วถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษา ถึงแม้ว่าการได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกในสมองอาจฟังดูน่ากลัว แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันมอบความหวังและโอกาสในการรักษามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หากพบอาการที่น่าสงสัย ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที เพราะการวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น