ฟอกไต วิธีการรักษาของผู้ป่วยโรคไต มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

ฟอกไต

โรคไตส่งผลทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินได้ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง การฟอกไต จึงเป็นวิธีที่ช่วยทดแทนการทำงานของไตที่เสื่อมสภาพ โดยการขจัดของเสียออกจากร่างกาย เพื่อลดการสะสมของสารพิษและของเหลวในกระแสเลือด บทความนี้ พาไปรู้จักวิธีการรักษาโรคไตอย่าง การฟอกไตคืออะไร? ฟอกไต ทํายังไง? มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่? พร้อมข้อควรรู้ต่างๆ ที่ผู้ป่วยโรคนี้ต้องทราบ


การฟอกไต คืออะไร

ฟอกไต คืออะไร

การฟอกไต (Dialysis) คือกระบวนการทางการแพทย์ที่ช่วยทดแทนการทำงานของไตที่เสื่อมสภาพ โดยการกำจัดของเสีย สารพิษ และน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย เพื่อรักษาสมดุลของสารเคมีและของเหลวในร่างกาย การฟอกไตมีสองวิธีหลัก ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) และการล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไป การฟอกไตแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 4–5 ชั่วโมง และต้องทำสัปดาห์ละ 2–3 ครั้ง 


สัญญาณเตือนว่าเมื่อไหร่ถึงควรฟอกไต

การฟอกไตเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อไตสูญเสียการทำงานจนไม่สามารถขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4-5 ซึ่งไตทำงานต่ำกว่า 30% หากมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

  • ภาวะบวมน้ำรุนแรง จนส่งผลให้หัวใจวายหรือระบบหายใจล้มเหลว
  • ระดับเกลือแร่ผิดปกติ หรือมีภาวะเลือดเป็นกรดรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อยา
  • อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด อย่างต่อเนื่อง
  • เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จากการสะสมของเสียในร่างกาย
  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น ซึมลงหรือชักกระตุก

ข้อควรระวังในก่อนเข้ารับการฟอกไต

การฟอกไต

การฟอกไตเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เพื่อทดแทนการทำงานของไตที่เสื่อมสภาพ การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฟอกไตอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ ก่อนเข้ารับการฟอกไต ผู้ป่วยพึงต้องปฎิบัติหรือหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเจาะเลือด วัดความดันโลหิต ให้น้ำเกลือ หรือฉีดยาที่แขนข้างที่จะใช้ทำเส้นฟอกไต เพื่อป้องกันความเสียหายต่อเส้นเลือดดำ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเคร่งครัด บางกรณีอาจต้องงดรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ก่อนการฟอกไต
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ควรควบคุมโรคเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนการฟอกไต
  • หมั่นบริหารเส้นเลือดข้างที่จะทำเส้นฟอกไตด้วยการบีบและคลายลูกบอลสลับไปมาครั้งละ 10–15 นาที เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเลือด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารและน้ำก่อนการฟอกไต บางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเฉพาะของแพทย์

ผลข้างเคียงที่อาจตามมาหลังจากการฟอกไต

การสังเกตและเฝ้าระวังผลข้างเคียงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที โดยผลข้างเคียงของการฟอกไตหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • ภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจเกิดขึ้นระหว่างการฟอกไต ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเวียนศีรษะหรือเป็นลม
  • อาการปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริว เกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อระหว่างการฟอกไต
  • อาการคัน อาจเกิดจากการสะสมของฟอสฟอรัสในร่างกาย
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับโพแทสเซียมในเลือดอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ
  • การติดเชื้อ หากมีการดูแลเส้นฟอกไตไม่ถูกต้อง หรือไม่สะอาดพอ

การฟอกไต มีค่ารักษาครั้งละกี่บาท 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการฟอกไตอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและประเภทของการฟอกไต โดยการฟอกไตผ่านหลอดเลือดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500 – 1,700 บาทต่อครั้ง ส่วนการฟอกไตทางช่องท้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการรักษาต่อเนื่อง หากต้องฟอกไตตลอดชีวิต


สรุป การฟอกไตในผู้ป่วยโรคไต

การฟอกไต คือกระบวนการที่ช่วยกำจัดของเสีย เกลือแร่ และของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย เพื่อรักษาสมดุลของสารต่าง ๆ ในเลือด ช่วยควบคุมความดันโลหิต และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต การฟอกไตมีหลายวิธี โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น การฟอกไตผ่านเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) และการล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน 

แม้ว่าการฟอกไตจะเป็นทางเลือกสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคไต แต่ก็อาจผลข้างเคียงจากการฟอกไตได้ เช่น ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว อาการคัน หรืออาการผิดปกติจากการเปลี่ยนแปลงระดับเกลือแร่ในร่างกาย ผู้ป่วยจึงควรระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ การฟอกไตเป็นการรักษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูงไปด้วย


รับฟรี! รวมโพสขายดี