
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และกำลังได้รับความสนใจจากแวดวงธุรกิจต่าง ๆ หนึ่งใน AI ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ Generative AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือเสียง ฯลฯ
บทความนี้จะพามารู้จัก Gen AI ให้มากยิ่งขึ้นถึงหลักการทำงาน ประเภท พร้อมยกตัวอย่างการนำไปใช้งานในธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนแนะนำข้อควรระวังในการใช้งาน Generative AI ที่ผู้ใช้ต้องพิจารณา เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
Generative AI มีหลักการทำงานอย่างไร?
Generative AI คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่โดยอัตโนมัติ เช่น ข้อความ, รูปภาพ, เสียง, วิดีโอ หรือโค้ดโปรแกรม โดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งจุดเด่นด้านการสร้างเนื้อหาของ AI Gen นี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำไปพัฒนาการทำงานหลาย ๆ ด้านได้
หลักการทำงานของระบบ Generative AI คือการใช้แบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) โดยเฉพาะโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Networks) ประเภทต่าง ๆ เช่น โมเดลภาษา (Large Language Models) สำหรับการสร้างข้อความ หรือ GAN (Generative Adversarial Networks) สำหรับการสร้างภาพ โดยโมเดลเหล่านี้ทำงานโดยการเรียนรู้จากข้อมูลเดิม คาดการณ์แนวโน้ม และสร้างผลลัพธ์หรือข้อมูลใหม่ที่มีความสมจริงและใกล้เคียงกับข้อมูลต้นแบบมากที่สุด แต่ไม่ซ้ำกันนั่นเอง
รู้จักประเภทต่าง ๆ ของ Generative AI
Generative AI มีกี่ประเภท? อย่างที่ได้ทราบกันไปแล้วว่า Gen AI เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ โดยอัตโนมัติ โดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลเดิม ซึ่ง Generative AI มีอะไรบ้างหากแบ่งออกตามประเภทการใช้งาน มาดูกัน
- การสร้างข้อความ (Text Generation) โดยสามารถสร้างข้อความใหม่ ๆ เช่น บทความ เรื่องสั้น หรือบทสนทนา ตัวอย่างเช่น ChatGPT ที่สามารถตอบคำถามและสนทนากับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- การสร้างรูปภาพ (Image Generation) โดยสามารถสร้างรูปภาพใหม่จากคำอธิบายหรือสไตล์ที่กำหนด ตัวอย่างเช่น DALL·E 2 และ Midjourney ที่สามารถสร้างภาพจากข้อความที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป
- การสร้างเสียง (Audio Generation) ทั้งการสร้างเสียงหรือดนตรีใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น Jukebox ของ OpenAI ที่สามารถสร้างเพลงจากคำอธิบายหรือสไตล์ที่กำหนด
- การสร้างวิดีโอ (Video Generation) Generative AI สามารถสร้างวิดีโอใหม่จากข้อมูลที่มีอยู่ แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ Generative AI ยังสามารถนำไปใช้ในการเขียนโค้ดโปรแกรม ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างโค้ดได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความสามารถที่หลากหลาย Gen AI จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในหลายด้าน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในงานต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย
Generative AI นำไปใช้งานในธุรกิจไหนได้บ้าง?

หลังจากได้รู้จักหลักการทำงานและประเภทของ AI นี้กันไปแล้ว หลายคนอาจยังสงสัยอยู่ว่าเราจะสามารถนำ Generative AI ไปใช้ยังไง จึงขอยกตัวอย่างธุรกิจหลัก ๆ ที่เราจะนำ Gen AI ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ใช้ AI สร้างคำบรรยายสินค้าสำหรับสินค้าจำนวนมาก ลดระยะเวลาในการเขียนและช่วยปรับโทนภาษาให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์
- สื่อและบันเทิง (Media & Entertainment) ช่วยสร้างแนวคิดสำหรับ story board และตัวละครต้นแบบ ทำให้การพัฒนาคอนเทนต์เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
- การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) สนับสนุนการพัฒนาแนวคิดดีไซน์ใหม่ ๆ โดยสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับวัสดุ ขนาด และสไตล์ เพื่อให้ได้ตัวเลือกที่เหมาะสมและลดระยะเวลาในการออกแบบ
- การตลาดและโฆษณา พัฒนาเนื้อหาโฆษณาให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การสร้างภาพผลิตภัณฑ์หรือโมเดลเสมือนจริงในบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อทดลองและปรับปรุงประสิทธิภาพของแคมเปญ
- การเงิน (Finance) วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน เช่น รายรับ-รายจ่าย รายเดือน คาดการณ์แนวโน้มทางการเงิน หรือประเมินความเสี่ยงเพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ
การนำ Generative AI มาใช้ในธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
การนำ Generative AI ไปใช้ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง?
แม้ว่า Generative AI จะมีประโยชน์ในการสร้างสรรค์เนื้อหา และช่วยสร้างสรรค์ไอเดียต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานได้ แต่การนำไปใช้งานต้องคำนึงถึงข้อควรระวังหลายประการ เช่น
- ความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจาก AI อาจสร้างข้อมูลที่ผิดพลาดหรือบิดเบือนได้
- ประเด็นด้านลิขสิทธิ์ เพราะเนื้อหาที่ AI สร้างขึ้นอาจละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่รู้ตัว
- ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล โดยเฉพาะในกรณีที่ AI ใช้ข้อมูลผู้ใช้ในการเรียนรู้
- อคติและความไม่เป็นกลางของ AI ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้
- การใช้งานอย่างมีจริยธรรม เพื่อป้องกันการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การสร้างข่าวปลอมหรือเนื้อหาชวนให้เกิดความเข้าใจผิด
Generative AI นำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายธุรกิจ
Generative AI คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ เช่น ข้อความ รูปภาพ หรือเสียง โดยอาศัยแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งสามารถแบ่งตามประเภทการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือเสียง ฯลฯ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายธุรกิจ อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการนำข้อมูลจาก Gen AI ไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีนี้