การกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารมีสิ่งที่คุณควรรู้และศึกษาไว้ อย่าง ดอกเบี้ยบ้าน คืออะไร? อัปเดตดอกเบี้ยบ้าน 2567 ทุกธนาคาร พร้อมวิธีการคำนวณดอกเบี้ย ขั้นตอนการทำสินเชื่อ เอกสารที่ต้องเตรียม เข้าใจดอกเบี้ยบ้านง่าย ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มความเข้าใจสำหรับใครที่กำลังตัดสินใจกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร
รวมอัตราดอกเบี้ยบ้าน แต่ละธนาคาร แบบเข้าใจง่าย ฉบับอัปเดต 2567
ดอกเบี้ยบ้าน 2567 อัปเดตล่าสุดของแต่ละธนาคาร โดยนำอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมบ้านเฉลี่ย 3 ปีแรกที่ต่ำที่สุดมาจัดอันดับเป็นตาราง แต่ละธนาคารจะมีอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่บ้างเราไปดูกันเลย
ธนาคาร | ดอกเบี้ยต่ำสุดเฉลี่ย 3 ปีแรก |
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ | 2.60% (วงเงินกู้ตามหลักประกันและเงื่อนไขที่กำหนด) |
ธนาคารออมสิน | 2.95% (วงเงินกู้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด) |
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา | 3.30% (วงเงินกู้ไม่เกิน 85-100% ของราคาประเมิน ) |
ธนาคารทหารไทยธนชาติ | 3.30% (วงเงินกู้ขั้นต่ำ 5 แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ) |
ธนาคารกรุงไทย | 3.33% (วงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน) |
ธนาคารกรุงไทย | 3.33% (วงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน |
ธนาคารไทยพาณิชย์ | 3.47% (วงเงินกู้สูงสุด 100% ของราคาประเมินหลักประกัน) |
ธนาคารกรุงเทพ | 3.72%( วงเงินกู้ไม่เกิน 100% ของราคาประเมิน) |
ประเภทของดอกเบี้ยบ้าน มีอะไรบ้าง?
ทำความรู้จักสินเชื่อบ้านเบื้องต้นก่อนที่คุณจำตัดสินใจกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคาร ดอกเบี้ยบ้าน 2567 มีประเภทอะไรบ้าง หลายคนอาจกำลังสับสนเกี่ยวกับประเภทดอกเบี้ยบ้าน วันนี้เราได้สรุปรวมประเภทดอกเบี้ยบ้าน 2567 แบบเข้าใจได้ง่าย ๆ เพื่อช่วยวางแผนการเงินของคุณให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยแต่ละประเภทจะถูกแบ่งออกเป็น ดังนี้
- อัตราดอกเบี้ยคงที่
ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน แบบคงที่ คือ มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้คงที่ตลอด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืม เรียกง่าย ๆ ว่า เป็น ดอกเบี้ยตายตัวตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งตามเงื่อนไข เช่น ได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี หรือ 5 ปี ซึ่งประเภทดอกเบี้ยคงที่ ยังแบ่งย่อยออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ เป็นดอกเบี้ยที่มีอัตราเท่าเดิมตลอดระยะเวลาสัญญา และจะไม่มีการปรับตัวลงหรือขึ้น
- ดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรกเท่านั้น ส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยจะถูกตรึงไว้ในช่วง 1-5 ปีแรก และหลังจากนั้นดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นลอยตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงิน
- ดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนดให้คงที่เป็นช่วง ๆ และปรับขึ้นทีละขั้นในแต่ละปีและหลังจากนั้นดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นลอยตัว
- อัตราดอกเบี้ยลอยตัว
อัตราดอกเบี้ยกู้บ้าน ประเภท ดอกเบี้ยลอยตัว เป็นดอกเบี้ยที่มีความไม่แน่นอน และไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะต้องปรับช่วงไหน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และต้นทุนทางการเงินของธนาคาร เป็นประเภทดอกเบี้ยที่เป็นหนึ่งในความเสี่ยงทำให้ผู้กู้ต้องผ่อนจ่ายไม่เท่ากันในแต่ละเดือน และยังแบ่งประเภทย่อย ๆ ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- MLR (Minimum Loan Rate)
เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำที่มักเกี่ยวข้องกับสินเชื่อธุรกิจ เป็นการกู้ระยะยาว และมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน ธนาคารจะเรียกเก็บกับลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินดี หรือเป็นลูกค้ารายใหญ่
- MRR (Minimum Retail Rate)
หลายคนอาจจะสงสัยกันว่า ดอกเบี้ย mrr คืออะไร ดอกเบี้ย MRR คือ ดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ธนาคารจะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติการชำระเงินดี
- MOR (Minimum Overdraft Rate)
MOR หรือ การเบิกเงิน OD มักใช้กับสินเชื่อธุรกิจเช่นเดียวกัน MLR จะมีการพิจารณาสินเชื่ออย่างเข้มงวด ซึ่งจะอ้างอิงจากลูกค้าที่มีประวัติการเงินดี หรือประเภทมีวงเงินเบิกบัญชีเกิน
- อัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา
อัตราดอกเบี้ยบ้าน ประเภทดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเป็นดอกเบี้ยที่กำหนดอัตราคงที่ และจะมีการปรับตามรอบเวลาที่แน่นอน โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ได้ เป็นดอกเบี้ยที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นได้
- อัตราดอกเบี้ยแบบผสม
ดอกเบี้ยบ้าน 2567 อีกประเภท คือ อัตราดอกเบี้ยผสม เป็นการผสมผสานดอกเบี้ยทั้ง 3 แบบ ได้แก่
ดอกเบี้ยแบบคงที่ แบบลอยตัว และแบบปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลาแล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในแต่ละปีจะขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
วิธีคำนวณดอกเบี้ยบ้าน ทำอย่างไร?
เมื่อเราได้รู้จักแล้วว่าประเภทของดอกเบี้ยบ้าน 2567 มีอะไรบ้าง และเพื่อเป็นการวางแผนการกู้สินเชื่อบ้าน วันนี้เราได้นำวิธีการคำนวณดอกเบี้ยบ้านทำอย่างไร แต่ทั้งนี้การคำนวณอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นคุณควรปรึกษากับธนาคารเพื่อใช้ประกอบการคำนวณ จะมีวิธีการคำนวณดอกเบี้ยกู้บ้านอย่างไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลย
หากคุณกู้สินเชื่อบ้านทั้งหมด 3,000,000 บาท ผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 20,000 บาท มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.00% ต่อปี งวดที่ 1 กำหนดชำระ เดือน มกราคม และในปีที่คุณชำระมี 365 วัน
งวดแรกชำระเดือนมกราคม จะสามารถคำนวณดอกเบี้ยได้ ดังนี้
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี
= (3,000,000 x 4.00% x 31) ÷ 365 = 10,191.78 บาท
ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด = เงินต้นคงเหลือ + ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด
= 3,000,000 + 10,191.78 = 3,010,191.78 บาท
หักค่างวดที่ต้องจ่ายในเดือนแรกออก 20,000 บาท เมื่อจ่ายงวดแรกจะเหลือเงินต้นเท่ากับ 3,010,191.78 – 20,000 = 2,990,191.78 บาท
เอกสารที่ใช้ขอสินเชื่อบ้าน มีอะไรบ้าง?
เอกสารที่ใช้ขอสินเชื่อบ้าน มีดังนี้
เอกสารส่วนตัว ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ทะเบียนบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส/ใบหย่า/ใบมรณะบัตร/ใบแจ้งความแยกกันอยู่ (หากมี)
- สำเนาใบเปลี่ยนแปลงชื่อ – สกุล (หากมี)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส(หากมี)
เอกสารแสดงรายได้
- หนังสือรับรองเงินเดือน/หนังสือรับรองสิทธิสวัสดิการ
- สลิปเงินเดือน หรือหลักฐานการรับเงินเดือน ย้อนหลัง 3 เดือน
- Statement เงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
- หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมตัวจริง)
หากประกอบอาชีพอิสระ ต้องเตรียมเอกสารแสดงรายได้ ดังนี้
- Statement เงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
- สำเนาทะเบียนการค้า/ทะเบียนพาณิชย์/ทะเบียนบริษัท/ทะเบียนนิติบุคคล
- หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
- ภาพถ่ายกิจการ 3-4 ใบ
- สำเนาใบประกอบวิชาชีพ
- สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าสั่งซื้อสินค้า
- หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมตัวจริง)
สรุป ดอกเบี้ยบ้าน ก่อนตัดสินใจกู้สินเชื่อบ้าน
ดอกเบี้ยบ้านมีสิ่งที่คนที่กำลังตัดสินใจกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารควรศึกษาไว้ เพื่อใช้เป็นแนวทางหรือวางแผนการเงินของคุณได้ล่วงหน้า และการอัปเดตดอกเบี้ยบ้าน 2567 อยู่เสมอก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงได้ และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อเป็นการคำนวณดอกเบี้ยบ้านอย่างแม่นยำ ควรปรึกษาธนาคารเพื่อใช้ประกอบการคำนวณก่อนเสมอ